ประวัติ ของ อาแล็กซ็องดร์ ก็อสต์

พื้นฐานครอบครัว

อาแล็กซ็องดร์ เอริก สเตฟาน ก็อสต์ เกิดเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2546กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นพระโอรสนอกสมรสในเจ้าชายอัลแบร์แห่งโมนาโก ที่เกิดกับนางนีกอล ก็อสต์ สตรีผิวสีอดีตแอร์โฮสเตสชาวโตโก สัญชาติฝรั่งเศส ซึ่งนางนีกอลและเจ้าชายอัลแบร์ได้คบหาดูใจกันมานานกว่า 5 ปี แต่นางนีกอลได้เกิดตั้งครรภ์ เนื่องจากลืมรับประทานยาคุมกำเนิดหลังจากการมีเพศสัมพันธ์[1] และข่าวได้แพร่งพรายออกมาในช่วงปี พ.ศ. 2548 แต่เจ้าชายอัลแบร์ได้ปิดเรื่องนี้ไว้ แต่เมื่อมีการประทานสัมภาษณ์ เจ้าชายอัลแบร์ได้ปฏิเสธ โดยตรัสว่า "พระองค์ถูกหลอก"[1] แต่ต่อมาก่อนการครองราชย์สมบัติเพียงหนึ่งสัปดาห์ เจ้าชายอัลแบร์ที่ 2 ทรงออกมายอมรับว่า อาแล็กซ็องดร์ ก็อสต์ เป็นโอรสของพระองค์โดยแท้จริง[1][2] เนื่องจากการตรวจดีเอ็นเอนั้นทั้งสองมีผลเลือดตรงกัน[3] และยังตรัสต่อไปอีกว่า พระองค์ทรงมีโอกาสพบโอรสองค์น้อยเพียงครั้งเดียวหลังจากเรื่องราวนี้แพร่ออกไป[1] และทรงเป็นห่วงอนาคตของโอรสองค์นี้ว่ามารดาจะดูแลได้เหมาะสมหรือไม่[1]

อาแล็กซ็องดร์ เดิมมีชื่อเกิดว่า อาแล็กซ็องดร์ เอริก สเตฟาน ตอสซุกเป (ฝรั่งเศส: Alexandre Éric Stéphane Tossoukpé) ต่อมาเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 นางนีกอล ผู้เป็นมารดาได้เปลี่ยนมาใช้นามสกุล ก็อสต์ ส่วนมารดา นางนีกอล ก็อสต์ เคยผ่านการสมรสและหย่ามาแล้วกับชายชาวอเมริกาใต้ และมีบุตรด้วยกันสองคน ซึ่งบุตรทั้งสองอยู่ภายใต้การดูแลของสามีเก่า

สิทธิในการครองราชย์

ด้วยเหตุที่อาแล็กซ็องดร์ เป็นบุตรที่เกิดจากบิดามารดาไม่ได้สมรสกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และไม่มีสิทธิในราชสกุลกรีมัลดี ตามกฎมนเทียรบาลว่าด้วยขึ้นครองราชย์สมบัติของโมนาโก[4][5] เนื่องจากรัชทายาทผู้สืบทอดราชบัลลังก์นั้นจะต้องเป็นบุตรที่มีบิดามารดาสมรสกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แม้ว่าจะเกิดการหย่าหลังจากการสมรสแล้วก็ตาม (ในกรณีของพระโอรส-ธิดาของเจ้าหญิงสเตฟานี)[6] เพราะฉะนั้นอาแล็กซ็องดร์จึงไม่มีสิทธิในการสืบราชบัลลังก์ของโมนาโก เช่นเดียวกับ แจซมิน เกรซ กรีมัลดี พระธิดานอกสมรสอีกคนหนึ่งของเจ้าชายอัลแบร์ที่ 2[7] แต่อาแล็กซ็องดร์ยังมีสิทธิในการรับมรดกจากพระบิดาตามคำกล่าวของทนายส่วนพระองค์[1] แต่อย่างไรก็ตามลำดับการสืบราชบัลลังก์อันดับแรกของโมนาโกจึงตกอยู่กับเจ้าหญิงกาโรลีน และอันดับต่อไปคือ อันเดรีย กาสิรากี บุตรของเจ้าหญิงกาโรลีนที่สมรสถูกต้องตามกฎหมาย[6]